ถุงยางอนามัย
ถุงยางอนามัย
ถุงยางอนามัย หรือ Condom เป็นผลิตภัณฑ์จากน้ำยางธรรมชาติ น้ำยางสังเคราะห์หรือวัตถุอื่น ๆ ซึ่งจะเสื่อมสภาพได้เองเมื่อระยะเวลาผ่านไปแต่จะเสื่อมสภาพมากขึ้นหากมีการเก็บรักษาอย่างไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีอากาศร้อนชื้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ถุงยางอนามัยเสื่อมสภาพก่อนถึงระยะเวลาที่กำหนด จึงควรมีวิธีการเก็บรักษาอย่างถูกต้อง ถุงยางอนามัยใช้สวมอวัยวะเพศชายในขณะร่วมเพศ เพื่อป้องกันน้ำอสุจิเข้าสู่ช่องคลอด เป็นการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และการตั้งครรภ์ไม่พร้อม
Q : ถุงยางอนามัยมีกี่ชนิด?
ปัจจุบันมีเพียง 2 ชนิดเท่านั้นคือ ชนิดที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติและจากสารสังเคราะห์ (ชนิดที่ทำจากลำไส้สัตว์ ปัจจุบันไม่ได้รับความนิยม)
ชนิดที่ทำจากน้ำยางธรรมชาติ (rubber condom or latex condom)
ข้อดีคือ ราคาถูก ยืดหยุ่นได้ดีกว่าชนิดที่ทำจากลำไส้สัตว์ การสวมใส่กระชับรัดแนบเนื้อ สามารถใช้ได้ทั้งเพื่อการคุมกำเนิดและป้องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
ข้อเสียคือ ไม่สามารถใช้ร่วมกับสารหล่อลื่นประเภทที่ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียม หรือน้ำมันหล่อลื่นผิวหนัง พวก Mineral oil ได้ เพราะจะทำให้โครงสร้างของน้ำยางเสื่อมลง ส่งผลต่อคุณภาพและการป้องกัน แต่ใช้ได้กับสารหล่อลื่นชนิดที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก (water-based lubricant)
ชนิดที่ทำจาก Polyurethane หรือ Polyisoprene (ถุงยางพลาสติก)
โดยแก้ไขข้อด้อยของถุงยางจากน้ำยางธรรมชาติ คือ เหนียวกว่า ทนต่อการฉีกขาด เหมาะสำหรับผู้ที่กลัวแพ้ยางพารา สามารถใช้สารหล่อลื่นที่ผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียม หรือน้ำมันหล่อลื่นผิวหนัง พวก Mineral oil ได้ และที่สำคัญคือสามารถทำให้บางได้ถึง 01 มิลลิเมตร ทำให้รู้สึกเสมือนไม่ได้ใส่อะไรเลย (feels like not wearing anything) แต่ราคาอาจสูงกว่าแบบน้ำยางพารา
Q : เลือกขนาดถุงยางอนามัยอย่างไร ให้เหมาะกับตัวเรา?
ถุงยางอนามัยที่เหมาะสมกับแต่ละคน สามารถสังเกตตัวเองได้เมื่ออวัยวะเพศมีการแข็งตัวเกิดขึ้น โดยทั่วไปจะขยายได้ใหญ่กว่าเดิม 3-5 เท่า การแข็งตัวเกิดขึ้นเมื่อเนื้อเยื่อคล้ายฟองน้ำเป็นลำยาวตลอดองคชาตที่เรียกว่า corpora cavernosa เริ่มเต็มไปด้วยเลือดที่ถูกสูบฉีดมาหล่อเลี้ยง เมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศ
การเลือกขนาดถุงยางอนามัย ควรเลือกให้พอดี ไม่หลวม หรือคับแน่นจนเกินไป เพราะจะทำให้ฉีกขาดง่าย หรือหลุดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งขนาดของถุงยางจะแตกต่างกันไปตามแต่ละยี่ห้อ โดยวัดจากเส้นรอบวงองคชาต ไม่ใช่ความยาว เพราะถุงยางอนามัยเกือบทุกยี่ห้อ จะทำความยาวมาเท่า ๆ กัน คือประมาณ 6-7 นิ้วเท่านั้น ใครที่มีอวัยวะเพศที่ยาวกว่านี้ก็อาจไม่สามารถครอบได้หมด ถุงยางอนามัย จะบอกเส้นรอบวงเป็นมิลลิเมตร ดังนี้
ถุงยางอนามัย ขนาด 49 มิลลิเมตร (เท่ากับ เส้นรอบวงองคชาต 11-12 เซนติเมตร หรือ ประมาณ 5 นิ้ว)
ถุงยางอนามัยขนาด 52 มิลลิเมตร (เท่ากับ เส้นรอบวงองคชาต 12-13 เซนติเมตร หรือ ประมาณ 5 นิ้ว)
ถุงยางอนามัย ขนาด 54 มิลลิเมตร (เท่ากับ เส้นรอบวงองคชาต 13-14 เซนติเมตร หรือ ประมาณ 5 นิ้ว)
ถุงยางอนามัยขนาด 56 มิลลิเมตร (เท่ากับ เส้นรอบวงองคชาต 14-15 เซนติเมตร หรือ ประมาณ 6 นิ้วขึ้นไป)
- วิธีการใช้ถุงยางอนามัยที่ถูกต้อง -
1. ใช้ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าจะเป็นทางทวารหนัก ช่องคลอดหรือทางปาก ควรพกถุงยางอนามัยมากกว่าหนึ่งชิ้น ให้เพียงพอต่อการใช้ วางถุงยางอนามัยในที่หยิบง่าย เพื่อสะดวกต่อการใช้งาน
2. ใช้ตลอดการมีเพศสัมพันธ์ โดยใส่ถุงยางอนามัยขณะที่อวัยวะเพศแข็งตัวเต็มที่ ระหว่างใช้ ถ้าลื่นหลุดหรือแตกต้องเปลี่ยนอันใหม่ทันที
3. นำถุงยางอนามัยออกจากซองอย่างระมัดระวัง โดยรีดถุงยางอนามัย ไปไว้ที่มุมใดมุมหนึ่ง ฉีกซองโดยระวังมิให้เล็บมือเกี่ยวถุงยางอนามัยขาดและอย่าคลี่ถุงยางอนามัยออกก่อนการสวมใส่
4. บีบส่วนปลายของถุงยางอนามัยเพื่อไล่ลมออก มิฉะนั้นจะทำให้ถุงยางอนามัยแตกได้
5. รูดถุงยางอนามัยให้ขอบถุงยางอนามัยที่ม้วนอยู่ด้านนอก หากอวัยวะเพศไม่ได้ขลิบปลาย ให้รูดหนังส่วนปลายก่อนการสวมใส่ ค่อยๆรูดถุงยางอนามัยเข้าหาตัวจนสุดโคนอวัยวะเพศ
6. ถ้าใช้ถุงยางอนามัยแล้วรู้สึกฝืด ให้หยดสารหล่อลื่นหรือเจลชนิดละลายในน้ำ เช่น เค-วาย เจล 1-2 หยด บริเวณด้านนอกถุงยางอนามัย จะช่วยให้รู้สึกราบรื่นขึ้น ห้ามใช้โลชั่น น้ำมันทาผิว หรือครีมทาผม กับถุงยางอนามัย เพราะผลิตภันฑ์ที่มีน้ำมันเป็นส่วนผสม จะทำให้ถุงยางอนามัยแตก และรั่วซึมได้
7. หลังเสร็จกิจให้ดึงอวัยวะเพศออกทันทีและถอดถุงยางอนามัยออกก่อนที่อวัยวะเพศจะอ่อนตัว โดยใช้กระดาษชำระพันโคนถุงยางอนามัยก่อนที่จะถอด หากไม่มีกระดาษชำระจะต้องระวังไม่ให้มือสัมผัสกับด้านนอกของถุงยางอนามัย ควรสันนิษฐานว่าด้านนอกของถุงยางอนามัยอาจจะปนเปื้อนเชื้อโรคแล้ว
8. ถุงยางอนามัยที่ใช้แล้วควรห่อให้มิดชิด แล้วทิ้งในถังขยะ ห้ามใช้ซ้ำ
- ประสิทธิภาพของถุงยางอนามัย -
ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์
หากใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี (Perfect use) โอกาสที่การคุมกำเนิดจะล้มเหลวมีอยู่เพียง 2% เท่านั้น แต่จากการใช้งานจริง พบว่า มีความล้มเหลวในการคุมกำเนิดเพิ่มขึ้นเป็น 18% หรือคิดเป็น 1 ใน 5 คน จากผู้ที่ใช้วิธีนี้ในการคุมกำเนิด ซึ่งมีสาเหตุหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ถุงยางไม่ถูกวิธี ใช้ไม่สม่ำเสมอ ใช้สลับกับการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น หรือถุงยางอนามัยชำรุด ฉีกขาด หรือรั่วซึม
ประสิทธิภาพในการป้องกันโรคติดต่อทางเพศ
ถุงยางอนามัยช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ (Sexually transmitted disease; STD) เช่น ติดเชื้อ HIV เอดส์ หนองในเทียม โกโนเรีย คลามายเดีย ตลอดจนโรคไวรัสตับอักเสบมากกว่าการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ทําหน้าที่กั้นเลือด อสุจิ และสารคัดหลั่งจากช่องคลอดไม่ให้ส่งต่อไปยังคู่นอนในระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เพราะเลือดและสารคัดหลั่งเหล่านี้ล้วนแต่มีโอกาสเป็นแหล่งเชื้อโรคได้ทั้งสิ้น
แต่ไม่ใช่ว่าการใช้ถุงยางอนามัยจะปลอดภัยเต็มร้อยเพราะถึงจะใช้อย่างถูกต้อง แต่ถุงยางไม่สามารถป้องกัน เริม หูดหงอนไก่ ซิฟิลิส และเชื้อกามโรคอีกหลายชนิดที่สามารถติดต่อได้จากหลายช่องทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีคู่นอนหลายคน แม้จะใช้ถุงยางอนามัยเสมอแต่ยังคงต้องตรวจหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นประจําอยู่ดี
ถุงยางอนามัยจะช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อได้ตราบเท่าที่ของเหลว หรือบริเวณที่ปนเปื้อนเชื้อถูกคั่นแบ่งด้วยถุงยาง ไม่เช่นนั้นถุงยางอนามัยก็คงไร้ความหมาย ดังเช่น กรณีออรัลเซ็กส์ เพราะเยื่อบุช่องปากที่สัมผัสบริเวณอวัยวะเพศ หรือสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโรคโดยตรงก็อาจทำให้ติดโรคนั้นๆ มาได้